วันอาทิตย์, 5 พฤษภาคม 2567

เกษตรนครปฐม ชี้ช่อง การทำนาไม่เผาฟาง ลดมลพิษ PM 2.5 คืนอากาศบริสุทธิ์ให้นครปฐม

เกษตรนครปฐม ชี้ช่อง การทำนาไม่เผาฟาง ลดมลพิษ PM 2.5 คืนอากาศบริสุทธิ์ให้นครปฐม

นางสาวธนนันท์ ศรีสุวะ เกษตรจังหวัดนครปฐม มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดนครปฐม และเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอบางเลน เดินหน้าติดตามผลการดำเนินงานการส่งเสริมการย่อยสลายฟางแทนการเผาในพื้นที่การเกษตร และเร่งขยายผลในพื้นที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
จากการส่งเสริมให้เกษตรกรงดเผาในพื้นที่การทำนา โดยกระบวนการทำงานร่วมกับเกษตรกรอย่างใกล้ชิด เพื่อเข้าใจถึงปัญหา และการหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน จนกระทั่งเกษตรกรต้นแบบ นายไชยยา วิมูลชาติ กลุ่มนาแปลงใหญ่ข้าวไผ่หูช้าง สามารถใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายฟางทดแทนทดแทนการเผาได้ 100% ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบัน

นายไชยยา วิมูลชาติ หนึ่งในเกษตรกรกลุ่มนาแปลงใหญ่ข้าวไผ่หูช้าง ตำบลไผ่หูช้าง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า แรกๆ ก็เป็นเกษตรกรคนหนึ่งที่ใช้วิธีการเผา ในการจัดการฟางข้าว ก่อนจะเริ่มต้นฤดูกาลทำนารอบต่อไป จากนั้นได้มีเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรเข้ามาให้คำแนะนำ ซึ่งผมก็ได้เล่าถึงปัญหาจริงๆ พร้อมกับมีใจที่จะปรับเปลี่ยน เพราะเล็งเห็นถึงการเผาฟาง สร้างมลพิษ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ส่งผลให้ตนเอง และลูกหลาน ได้รับสภาพอากาศที่เป็นพิษ จึงตัดสินใจทดลองร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานอื่นๆ จนได้แนวทางที่เหมาะสมที่สุดกับพื้นที่และพฤติกรรมของเกษตรกรในบริเวณนี้ ก็คือ การใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายต่อซัง ให้เกษตรกรพัก 7-10 วัน รอกระบวนย่อย ก่อนเริ่มทำนารอบใหม่ โดยสูตรน้ำหมักจุลินทรีย์ย่อยสลายฟาง

ดังนี้
ส่วนผสมน้ำหมักจุลินทรีย์ย่อยสลายฟาง
1. สารพด. 1 5 ซอง
2. กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม
3. แป้งข้าวเหนียว 1 กิโลกรัม
4. น้ำ 200 ลิตร
หมักทิ้งไว้ 7-10 วัน สามารถนำไปใช้ได้ถึง 10 ไร่
วิธีการใช้มีทั้ง 2 วิธี ดังนี้
1. ปล่อยน้ำหมักจุลินทรีย์ย่อยสลายฟางประมาณ 20 ลิตร/ 1 ไร่ ไปพร้อมกับน้ำใส่ในนาข้าว ให้น้ำท่วมนาข้าว สูงประมาณ 10 เซนติเมตร
2. ปล่อยน้ำเข้านาให้สูงประมาณ 10 เซนติเมตร และใช้วิธีการฉีดพ่นน้ำหมักจุลินทรีย์ลงไปให้ทั่วแปลงนา
โดยเกษตรกรแนะนำใช้วิธีแรก จะช่วยประหยัดเวลาและลดการจ้างแรงงานในการฉีดพ่น
เกษตรกรยังกล่าวอีกว่า หลังจากหยุดเผาแล้ว ผลดีที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือเรื่องของดิน ดินในนามีลักษณะร่วนซุย หลังจากปลูกข้าวแล้ว ข้าวเจริญเติบโตดี แข็งแรง เป็นเพราะได้รับธาตุอาหารจากอินทรีย์วัตถุที่ย่อยสลายฟางแล้ว ส่วนผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดี มีความหอม และความนุ่ม จนผู้บริโภคเอ่ยชม แต่ที่สำคัญที่สุดคือ
ผมและสมาชิกในกลุ่มเป็นส่วนหนึ่งที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เป็นจุดเล็กๆ ที่เริ่มต้นที่จะเปลี่ยนแปลง จะได้คืนอากาศบริสุทธิ์ให้ลูกหลานในพื้นที่

ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการขยายผลจากเกษตรกร 1 กลุ่ม ในตำบลไผ่หูช้าง ไปสู่ ตำบลบัวปากท่า ตำบลนิลเพชร ตำบลบางไทรป่า และตำบลนราภิรมย์ ในพื้นที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม โดยเห็นถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และส่งผลกระทบต่อคุณสมบัติของดิน ทำให้ดินแน่นทึบ อัตราการซาบซึมน้ำต่ำ ปริมาณไนโตรเจนที่ผิวดินลดลง รวมไปความหลากหลายของจำนวนและชนิดจุลินทรีย์ลดลง ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อการทำเกษตรของเกษตรกรในระยะยาว
“การปรับเปลี่ยนอาจจะไม่สะดวก 100% แต่ผลดีมีมากกว่า ก็คุ้มที่จะปรับเพื่อส่วนรวม”

Loading