นครปฐม200568การส่งเสริมวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์การท่องเที่ยวประเพณีอัฏฐมีบูชา “132 ปี อัฏฐมีบูชา”
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 เวลา 15.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดใหม่สุคนธาราม ตำบลวัดละมุด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม จัดโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารและวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดนครปฐม กิจกรรม การส่งเสริมการท่องเที่ยวประเพณีอัฏฐมีบูชา “132 ปี อัฏฐมีบูชา” โดยมีพระครูสิริปุญญาภิวัฒน์ เจ้าคณะอำเภอนครชัยศรี เจ้าอาวาสวัดสำโรง ประธานฝ่ายสงฆ์ นางสาวอโรชา นันทมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วย นายปรีชา ดิลกพรเมธี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางฐิติรัตน์ เรืองสังข์ วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม นายอารุช เอมโอฐ นายอำเภอนครชัยศรี นางสาวอรพร คัมภีรศาสตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม นายอาทร สูญจันทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวัดละมุด นายอนุพงศ์ ขำโสภา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีมหาโพธิ์ นายรัฐการ พรรณพัฒน์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาคเอกชน ประชาชน เข้าร่วมพิธีฯ
จังหวัดนครปฐม ร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดนครปฐม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม องค์การบริหาร ส่วนจังหวัดนครปฐม อำเภอนครชัยศรี องค์การบริหารส่วนตำบลวัดละมุด องค์การบริหารส่วนตำบลศรีมหาโพธิ์ และประชาชนชาวตำบลวัดละมุด และตำบลวัดศรีมหาโพธิ์ จัดงาน 132 ปี อัฏฐมีบูชา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม วัดใหม่สุคนธาราม” ขึ้น ระหว่างวันที่ 17 – 19 พฤษภาคม 2568 ณ วัดใหม่สุคนธาราม ตำบลวัดละมุด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และในวันนี้ เวลา 15.30 น. ภายในงานมีขบวนแห่แสดงพุทธประวัติและขบวนคติธรรม ขบวนนางรำ จากนั้นเข้าสู่พิธีอัญเชิญพระบรมศพจำลอง นำโดยคณะสงฆ์พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนเวียนทักษิณาวัตรรอบมณฑลพิธีจำลอง แล้วอัญเชิญประดิษฐานเหนือจิตกาธาน เพื่อประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และเข้าสู่พิธีการตามลำดับ จากนั้นเวลา 19.00 น. เชิญชมการแสดงพลุ ดอกไม้ไฟ , การสาธิตการชนควายเพลิง โดยวัดทองทั่ว จังหวัดจันทบุรี , การแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดอัฏฐมีบูชา พระจักราชนะมาร โดยวิทยาลัยนาฏศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และการแข่งขัน “ตะไลลอดบ่วง”
“วันอัฏฐมีบูชา” ตรงกับวันถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า นับเป็นวันสำคัญทางศาสนาวันหนึ่ง ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 หรือวันแรม 8 ค่ำ ตามจันทรคติแห่งเดือนวิสาขะ การที่มีประเพณีบูชาในวันนี้ เนื่องมาจากพระพุทธเจ้าเสด็จ สู่พระปรินิพพาน เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (วันวิสาขบูชา) บรรดาพระอรหันตสาวกและมัลละกษัตริย์ได้มีการบำเพ็ญกุศลถวายตลอดมาจนครบ 7 วัน ครั้งถึงวันที่ 8 เป็นวันดิถีอัฏฐมี จึงเชิญพระบรมศพแห่ไปประดิษฐาน ณ มกุฎพันธเจดีย์ แล้วเตรียมการถวายพระเพลิง นับเป็นการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้าหลังจากเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน 8 วัน
การบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันอัฏฐมีบูชาในประเทศไทยมีเพียงไม่กี่แห่งที่จัดขึ้น เหตุเพราะไม่เป็นที่นิยมมากนัก และค่อย ๆ ถูกลดทอนความสำคัญไปมากพอสมควร สถานที่จัดที่มีการจัดงานมีขบวนอย่างยิ่งใหญ่และเป็นที่รู้จักกัน อย่างแพร่หลาย ได้แก่ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง จังหวัดอุตรดิตถ์ วัดใหม่สุคนธาราม จังหวัดนครปฐม และวัดด่าน เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร
โดยในปีพุทธศักราช 2562 “ประเพณีอัฎฐมีบูชา” ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 195 ง หน้า 4 เรื่อง การขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2562 ระดับประเทศ สาขาแนวปฏิบัติ ทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และงานเทศกาล
การจัดงานบุญประเพณีอัฏฐมีบูชาที่วัดใหม่สุคนธาราม เริ่มต้นจากคณะสงฆ์และชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับวัดให้ความสำคัญกับวันอัฏฐมีบูชาซึ่งมีมานานนับร้อยปี มีการจัดงานทุกปี ในสมัยก่อนจัดกันตั้งแต่วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา หรือวันปรินิพพานเป็นต้นไป ต่อมาภาคส่วนต่าง ๆ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสืบสาน รักษา ประเพณีอัฏฐมีบูชา จึงได้เกิดการสนับสนุนในทุกภาคส่วนทำให้เกิดการจัดงานมาจวบจนปัจจุบันนี้
ชนิดา พรหมผลิน/นครปฐม