วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

รองผู้ว่าฯประจวบ”เปิดโครงการให้ความรู้นายจ้าง กฏหมายแรงงานต่างด้าว ทำงานในประเทศอย่างถูกต้อง

ประจวบฯประชาสัมพันธ์จังหวัดจัดโครงการให้ความรู้นายจ้างกฎหมายแรงงานต่างดาวทำงานในประเทศอย่างถูกต้อง

เมื่อวันที่10 ก.ย.63 ที่ห้องเรือทอง โรงแรมหาดทอง อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายชาตรี  จันทร์วีระชัย  รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานเปิดโครงการประชาสัมสัมพันธ์แรงงานต่างด้าว จัดโดยสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดฯ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายการเข้าเมืองเพื่อทำงานและการขออนุญาตการทำงานของแรงงานต่างด้าว โดยมีเครือข่ายสื่อมวลชนในพื่นที่ จ.ประจวบฯ เข้าร่วมจำนวน 20 คนเพื่อนำไปขยายผลการประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักไปถึงผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างแรงงานต่างด้าวให้ใช้แรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย และนำลูกจ้างไปดำเนินการเข้าสู่ระบบให้ถูกต้อง รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 โดยมีวิทยากรจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดฯ และสำนักงานจัดหางานมาบรรยายให้ความรู้

นายชาตรี จันทร์วีระชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า การใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายมีโทษหนักทั้งนายจ้างและลูกจ้าง และอาจนำไปสู่การเชื่อมโยงกับขบวนการค้ามนุษย์ ดังนั้นนายจ้างที่มีความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวจึงควรดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยสามารถแจ้งความประสงค์การจ้างแรงงานต่างด้าวที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดฯ ได้ ทั้งนี้ ในช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในฝั่งเมียนมา ทางจังหวัดได้เข้มงวดสกัดกั้นคนต่างด้าวลักลอบเข้าประเทศผิดกฎหมายอย่างเข้มงวดตลอดแนวชายแดนติดกับประเทศเมียนมา ทั้งการจัดเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน ตั้งจุดตรวจจุดสกัดในหมู่บ้านชุมชนใกล้ชายแดน  และขอให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาสอดส่องให้กับทางราชการอีกทางหนึ่ง

 

ด้าน นางสาวกตพร  สองเมืองสุข จัดหางานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ข้อมูล ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2563 จ.ประจวบฯ มีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือกัมพูชา และเมียนมา ที่ขอรับใบอนุญาตทำงานรวมจำนวน 25,730 คน นายจ้าง 5,536 ราย  เป็นลูกจ้างแรงงานเมียนมามากที่สุด  22,970 คน ทำงานในกิจการประเภทเกษตรและปศุสัตว์มากที่สุด รองลงมาคือกิจการต่อเนื่องการเกษตร และกิจการประมง ซึ่งนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวทำงานต้องแจ้งให้กรมการจัดหางานทราบชื่อและสัญชาติของคนต่างด้าวและลักษณะงานที่ให้ทําภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่จ้าง และเมื่อคนต่างด้าวออกจากงาน หรือไม่ได้ทำงานกับนายจ้างแล้ว ก็ต้องแจ้งให้กรมการจัดหางานทราบภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่คนต่างด้าวออกจากงาน พร้อมทั้งระบุเหตุแห่งการออกจากงานของคนต่างด้าวนั้นด้วย โดยสามารถยื่นผ่านทางระบบออนไลน์ทาง Application E-Inform หากฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุด  20,000 บาท

ส่วนการจ้างแรงงานต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานจะมีความผิดทั้งนายจ้างและลูกจ้าง โดยนายจ้าง ต้องระวางโทษปรับ 10,000 – 100,000 บาท / คนต่างด้าว 1 คน ทำผิดซ้ำมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวทำงาน 3 ปี ส่วน
ลูกจ้างแรงงานต่างด้าว
มีโทษปรับ 5,000 – 50,000 บาท / คนต่างด้าว 1 คน และจะถูกส่งกลับไปนอกราชอาณาจักร รวมทั้งห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับโทษ

พิสิษฐ์ รื่นเกษม/ข่าว/จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

Loading