วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

ยกระดับสินค้าเด่นกลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานสู่ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่

”ภาคใต้ชายแดน”ยกระดับสินค้าเด่นกลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานสู่ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ เพื่อพัฒนายกระดับสินค้า OTOP

นายไกรวุฒิ ช่วยสถิตย์ พัฒนาการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธาน ยกระดับสินค้าเด่นกลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานสู่ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่
กิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการออกแบบผลิตภัณฑ์และการประยุกต์งานจักสานกับงานช่างประเภทอื่นแก่แกนนำผู้ประกอบการ
ณ ห้องประชุมโรงแรมตันหยง อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนราธิวาสได้รับการจัดสรรงบประมาณจากแผนปฏิบัติราชการกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ปี 2560 เพื่อพัฒนายกระดับสินค้า OTOP ศักยภาพของจังหวัดให้มีศักยภาพในการผลิตและมีมูลค่าการจำหน่ายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ประกอบด้วย พัฒนากรและอาสาพัฒนา รวม 46 คน ทำหน้าที่ในบทบาทพัฒนากรพาณิชย์คือ สวมบทบาทการเป็นนักพัฒนาชุมชนที่ศึกษาเรียนรู้บริบท และแสวงหาองค์ความรู้ของชุมชนสร้างสรรค์ให้เป็นสินค้าที่ดีมีคุณค่า และบทบาทการเป็นนักการตลาดที่จะยกระดับสินค้าชุมชนให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น นำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นของประชาชน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้มีเป้าหมายดำเนินการ 46 ผลิตภัณฑ์ ในพื้นที่ 13 อำเภอ

ที่ผ่านมาสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดได้ดำเนินการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่จำเป็นต่างๆ ให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน การสนับสนุนการจัดเวทีในระดับชุมชนเพื่อค้นหาจุดเด่นและวางแผนการพัฒนาสินค้า การถ่ายทอดความรู้เรื่องการจัดทำแผนธุรกิจ และเวทีการนำเสนอทิศทางการพัฒนากลุ่มเป้าหมาย และครั้งนี้ได้มีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้พัฒนากรพาณิชย์นำไปยกระดับการพัฒนากลุ่มตามศักยภาพและแผนงานที่นำเสนอไว้ จำนวน 5 กลุ่มโครงการ ได้แก่ (1) กลุ่มผลิตภัณฑ์จักสาน (2) กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้า (3) กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและของกินเล่น (4) กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน และ (5) กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปและสมุนไพร
สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานได้ดำเนินกิจกรรมตาม โครงการยกระดับสินค้าเด่นกลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานสู่ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ประกอบด้วยกลุ่มผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์กระจูดคาดหวังว่าปลายเดือนนี้ ผลิตภัณฑ์จากกระจูดของพี่น้องบ้านเราจะมีรูปแบบใหม่ๆออกมา ผลิตภัณฑ์งานสานจากไม้ไผ่ และผลิตภัณฑ์ขึ้นรูปจากหนังสือพิมพ์ รวม 8 กลุ่ม ซึ่งโครงการนี้แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 กิจกรรมย่อยคือ กิจกรรมย่อยที่ 1 กิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการออกแบบผลิตภัณฑ์และการประยุกต์งานจักสานกับงานช่างประเภทอื่นแก่แกนนำผู้ประกอบการ

โดยเน้นการเพิ่มทักษะให้แก่แกนนำกลุ่มผู้ประกอบการเป้าหมาย ทั้ง 8 กลุ่ม รวม 48 คน ในด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน และการประยุกต์เชื่อมโยงงานจักสานกับงานช่างประเภทอื่น เพื่อสร้างชิ้นงานตัวใหม่ในกลุ่มของใช้เฟอร์นิเจอร์ กิจกรรมย่อยที่ 2 คือ กิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดองค์ความรู้การออกแบบผลิตภัณฑ์และการประยุกต์งานจักสานกับงานช่างประเภทอื่นแก่สมาชิกกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ดำเนินการในระดับพื้นที่ ระยะเวลา 3 วัน โดยกำหนดให้แกนนำกลุ่มทั้ง 48 คน ที่ผ่านการฝึกอบรม ในการนำองค์ความรู้ที่ได้รับ ไปฝึกสอนให้แก่สมาชิกกลุ่มของตนเอง กลุ่มละ 20 คน โดยคาดหวังให้สามารถผลิตชิ้นงานรูปแบบใหม่และประยุกต์งานต่างๆ ให้เกิดความเป็นเอกลักษณ์ในผลิตภัณฑ์ของกลุ่มตนเอง สามารถจำหน่ายสร้างมูลค่าเพิ่มในตลาดได้จริง

ภาพ/ข่าว ซาการียา ดอเลาะ จังหวัดนราธิวาส

 

 

Loading