วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

ผวจ.นครศรีธรรมราช ประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

ผวจ.นครศรี ประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด


วันนี้ (30 ตุลาคม 2560) ที่ห้องประชุมศรีวิชัย ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดนครศรีธรรมราช ครั้งที่ 1/2561 โดยมีนายสมนึก พรหมเขียว ปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช คณะกรรมการผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม และรายงานผลการดำเนินงานในรอบเดือนที่ผ่านมา และภาพรวมของปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไข
สำหรับการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดนครศรีธรรมราช ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนจากสำนักงาน ปปส.ภาค 8 รายงานสถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ในห้วงเดือนกันยายน 2560 พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีคดียาเสพติดรวม 690 คดีสามารถจับผู้ต้องหาได้ 1,012 คน พบว่าชนิดยาเสพติดที่มีการจับกุมมากที่สุด ได้แก่ ยาบ้า จำนวน 476 คดี คิดเป็นร้อยละ 49.58 รองลงมา ได้แก่ พืชกระท่อม 400 คดี คิดเป็นร้อยละ 41.66 ไอซ์ จำนวน 47 คดีคิดเป็นร้อยละ 4.89 และกัญชาแห้ง จำนวน 27 คดีคิดเป็นร้อยละ 2.81 ตามลำดับ อำเภอที่มีการจับกุมมากที่สุด 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ทุ่งสง หัวไทร ท่าศาลา และอำเภอทุ่งใหญ่ อำเภอที่มีคดียาเสพติดน้อยที่สุดได้แก่อำเภอช้างกลาง ในขณะที่สถิติผลการจับกุมคดีที่มีการกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่าข้อหาที่มีการจับกุมมากที่สุด ได้แก่ ข้อหาเสพ 367 คดี รองลงมาข้อหาครอบครอง 290 คดี ข้อหาผลิต 192 คดี ข้อหาครอบครองเพื่อจำหน่าย 160 คดี และข้อหาผลิต 138 คดี และข้อหาจำหน่าย 4 คดี ส่วนสถานการณ์ด้านการค้ายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่ามีพื้นที่ที่มีปัญหาด้านการค้าอยู่ในระดับที่ต้องให้ความสำคัญ คือ อำเภอเมือง ทุ่งสง สิชล ปากพนัง และอำเภอท่าศาลา โดยพบว่าชนิดยาเสพติดหลักที่มีการค้าในพื้นที่มากที่สุดคือ พืชกระท่อม ยาบ้า ไอซ์ และกัญชา โดยกลุ่มเครือข่ายการค้าที่เกี่ยวข้อในพื้นที่ส่วนมากเป็นรายกลางและรายย่อย มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง เช่น สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กทม. และภาคใต้ตอนล่างในการจัดหาลำเลียงยาเสพติดเข้าสู่พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
ด้านผู้แทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช รายงานการแก้ไขปัญหาการจำหน่ายยาน้ำแก้ไอ ซึ่งในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชมีร้านยาขายยาแก้ไอ จำนวน 349 ร้าน ผลการดำเนินงานตั้งแต่สิงหาคม – กันยายน 2560 สสจ.ได้บูรณาการร่วมกับชุดเฉพาะกิจศรีวิชัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบร้านขายยาในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรวจร้านขายยา 20 ร้าน ปรับ จำนวน 9 ราย ยกเลิกการขายยา 7 ราย เป็นร้านที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 2 ราย โดยแจ้งสภาเภสัช ให้ดำเนินการตามจรรยาบรรณเภสัช เพิกถอน 1 ราย ขณะที่บางพื้นที่ตรวจสอบพบยาแก้ไอที่ผสมน้ำสมุนไพร ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไขยากเนื่องจากสมุนไพรเป็นอาหารที่สามารถรับประทานได้ นอกจากนี้ยังได้จัดประชุมผู้บริหารระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อบูรณาการร่วมกันในการแก้ไข จับกุมร้านขายยาที่เป็นต้นทางในพื้นที่ส่วนกลางด้วย
ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ยาเสพติดเป็นฐานรากของปัญหาอื่น ๆ ของสังคม ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถขจัดให้หมดสิ้นไปได้ทั้งหมดแต่เป็นปัญหาที่ทุกคนจะต้องร่วมแรงร่วมใจในการแก้ไข โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ในปี 2561 ให้ทุกอำเภอกำหนดแผนในการบำบัดรักษาผู้เสพผู้ติดยาเสพติด ทั้งระบบสมัครใจ บังคับบำบัด และระบบต้องโทษ โดยธรรมบำบัดทั้งชายและหญิง เพื่อฝึกความอดทด ฝึกให้มีสมาธิ มีสติ ใช้ธรรมะขัดเกลานจิตใจ ไม่หวนไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก

พรรณี กลสามัญ/ภาพ-ข่าว
จุรีรัตน์ ยอดถึง/ภาพ
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช

Loading