วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

เชียงใหม่-สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินร่วมกับสายการบินวิสดอมลงนาม MOU บินลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉิน

เชียงใหม่ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินร่วมกับสายการบินวิสดอมลงนาม MOU บินลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉิน

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินร่วมกับสายการบินวิสดอมลงนาม MOU บินลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินที่อยู่ในพื้นที่ห่างใกล้ ในพื้นที่ภาคเหนือ จากข้อมูลของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ในปีที่ผ่านมา มีการใช้อากาศยานในการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉิน จำนวนทั้งสิ้น 30 ครั้ง ซึ่งทุกครั้งผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการรักษาจนรอดปลอดภัย

ที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และบริษัท วิสดอม แอร์เวย์ จำกัด ในการประสานการช่วยเหลือลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยอากาศยาน
ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ( สพฉ.) กล่าวว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และบริษัท วิสดอม แอร์เวย์ จำกัด ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจสายการบิน ได้เห็นพ้องร่วมกันในการทำข้อตกลงเพื่อการปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศยาน ทั้งนี้เพื่อการลำเลียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน จากพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างไกล หรือเดินทางด้วยรถยนต์ใช้เวลานาน มาทำการรักษาต่อยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินที่ยังอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ได้รับการดูแลอย่างทันที อันเป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งการตราพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551

ก่อนหน้านี้ ทาง สพฉ. ได้เริ่มดำเนินการจัดตั้งระบบการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ ที่เรียกว่า Sky Doctor มาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีอากาศยาน ในการใช้อากาศยานลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งการออกปฏิบัติการทั้งประเทศมีสถิติที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือที่เป็นภูเขาสูงการเป็นการเดินทางด้วยรถยนต์ต้องใช้เวลานาน Sky doctor ก็มาช่วยให้ระยะเวลานั้นลดลงเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาก็ยังมีข้อจำกัด เช่น การลำเลียงผู้ป่วยจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนมารักษายังจังหวัดเชียงใหม่ด้วยอากาศยานที่มีอยู่ในพื้นที่ ณ ปัจจุบัน คือเฮลิคอปเตอร์ สามารถดำเนินการได้เฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น การที่สายการบินวิสดอม แอร์เวย์ ซึ่งให้บริการบินในเชิงพาณิชย์ เส้นทาง เชียงใหม่- แม่ฮ่องสอน นำอากาศยานชนิดปีกตรึง และมีระบบเดินอากาศที่ทันสมัย มาช่วยสนับสนุนการปฏิบัติ ทำให้การการลำเลียงส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินในสามารถทำได้รวดเร็วและครอบคลุมช่วงเวลาได้มากขึ้น โดยการปฏิบัติการทั้งหมด ไม่ว่าจะการร้องขอใช้อากาศยาน การประเมินสภาพผู้ป่วย การอนุมัติ จะดำเนินการผ่านระบบที่ สพฉ.กำหนด ผู้ป่วยและญาติไม่ต้องมีการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมใดๆ ทั้งสิ้น จากข้อมูลของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ในปี 2560 มีการใช้อากาศยานในการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉิน จำนวนทั้งสิ้น 30 ครั้ง ซึ่งทุกครั้งผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการรักษาจนรอดปลอดภัย

ด้านนายสุนัย ถาวรธวัช ผู้บริหารสายการบิน วิสดอมเปิดเผยว่า เบื้องต้นทางสายการบินวิสดอมได้วางแผนกับ สพฉ.ในการเปิดเส้นทางบินรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดเชียงราย อำเภอปาย ตัวเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดน่าน หลังจากนั้นจึงจะขยายเส้นทางบินไปยังจังหวัดอื่นในภาคเหนือตามที่ สพฉ.ร้องขอมา ซึ่งทางสายการบินมีความพร้อมได้มีการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน สามารถดำเนินการรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉินได้ภายใน 1 ชั่วโมง

Loading