วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

เยาวชนศรีสะเกษรวมตัวจัดกิจกรรมร้านนมสร้างสุข

11 มี.ค. 2018
71

เยาวชนศรีสะเกษรวมตัวจัดกิจกรรมร้านนมสร้างสุข พื้นที่สร้างสรรค์ ถนนเด็กเดิน เมาดิบปลอดภัย ไร้แอลกอฮอล์

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2561 ที่ร้านนมแกะดำ หน้าสวนสาธารณหนองอุทัย อ.เมืองศรีสะเกษ น.ส.จันที สมนา หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมรณรงค์ในโครงการร้านนมสร้างสุข ตอน “แกะดำชนนม คาวบอย” สนุก มันส์ สร้างสรรค์ ปลอดภัย ไร้แอลกอฮอล์ ซึ่งสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคอีสานตอนล่างร่วมกับผู้ประกอบการร้านนม“แกะดำ” สมาพันธ์เด็กและเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษ สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษ บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดศรีสะเกษ และโครงการมหาวิทยาลัยปลอดเหล้าร่วมกันจัดขึ้น โดยมี นายพงศ์ภัค มงคลชัยพาณิชย์ ที่ปรึกษาสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายฉัตรชัย นิสัยกล้า ผู้ประสานงานเยาวชนเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคอีสานล่าง น.ส.อรัญญา ทิพานนท์ อดีตกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดศรีสะเกษ และนายพงษ์สิทธิ์ รักษาทรัพย์ ผู้ประกอบการร้านนมแกะดำ นำเด็กและเยาวชนให้การต้อนรับและร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
นายพงศ์ภัค กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ภายใต้กรอบคิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและนำการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นพลังขับเคลื่อน มุ่งเปิดพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตภายในและภายนอกรั้วสถาบันการศึกษา และปลุกกระแสการดื่มนมตลอดจนเครื่องดื่มทางเลือกอื่นๆ ทดแทนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการรวมกลุ่มเพื่อพบปะสังสรรค์ จัดปาร์ตี้ หรือการชมคอนเสิร์ต โดยเชื่อว่าจะมีอรรถรสมากยิ่งขึ้น ให้กลายเป็นค่านิยมของวัยรุ่น เพื่อสนับสนุนนโยบายควบคุมร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา สร้างขบวนการเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงระดับจังหวัดที่เป็นการทำงานภายใต้ประชาคมงดเหล้าจังหวัด ใช้แนวคิดเรื่องพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area base)
ด้าน น.ส.จันที สมนา หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า สภาพสังคมในปัจจุบันร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษามีแนวโน้มน้อมเติบโตสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ในกรุงเทพมหานคร พบว่า การขยายตัวของร้านร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูงถึงร้อยละ 72 ในรอบ 5 ปี (ปี 2552-2557) เฉลี่ยได้เท่ากับ ร้อยละ 14 ในแต่ละปี นโยบายหนึ่งที่จะสามารถสนับสนุนกฎหมายที่มีอยู่แล้วและปกป้องเยาวชนได้ คือ การไม่อนุญาตให้มีร้านที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรัศมีรอบสถานศึกษา การควบคุมดังกล่าวเป็นการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมทางการดื่มของเยาวชน ทำให้เยาวชนที่ต้องการดื่มมีต้นทุนในการดื่มที่สูงขึ้น จนอาจดื่มน้อยลง และลดทอนผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งกับตัวเยาวชนเองและสังคมได้ในที่สุด ประกอบกับการส่งเสริมให้มีพื้นที่กิจกรรมทางเลือก กิจกรรมสร้างสรรค์ ให้เยาวชนได้มีพื้นที่พบปะ ทำกิจกรรม โดยไม่ต้องอาศัยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

บุญทัน ธุศรีวรรณ ภาพ/ข่าว

Loading