วันพุธ, 8 พฤษภาคม 2567

บริษัทรับเหมาสร้างรถไฟทางคู่หัวหิน ยันต้องรื้อบ้าน 700 หลัง ในพื้นที่ รฟท. ก่อนก่อสร้าง

บริษัทรับเหมาสร้างรถไฟทางคู่หัวหินยันต้องรื้อบ้าน 700 หลังในพื้นที่ รฟท.ก่อนก่อสร้าง

วันที่ 29 มีนาคม ที่ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลเมืองหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหินพร้อมด้วยนายวิชญ์กร อัมระปาล ผู้จัดการโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทางช่วงนครปฐม – หัวหิน บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และเจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย( รฟท.)ประชุมชี้แจงประชาชนจากชุมชนในเขตเทศบาลกว่า 300 คน ที่ได้รับผลกระทบกว่า 700 ครัวเรือนจากโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ในพื้นที่ รฟท. ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน ถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 โดยบรรยากาศตึงเครียด หลังจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องชี้แจงแนวทำความเข้าใจแนวทางการรื้อถอน

นายวิชญ์กร อัมระปาล ผู้จัดการโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ กล่าวว่า ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างต้องการให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่โครงการย้ายออกภายในระยะเวลา 1 – 2 เดือน เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ทราบดีว่าต้องย้าย แต่บางส่วนยังมีปัญหาจากที่อยู่ใหม่และ จะได้ค่ารื้อย้ายหรือไม่ โดยทีมเจ้าหน้าที่จะเข้าไปสำรวจว่าบ้านแต่หลังมีการใช้วัสดุปลูกสร้างอย่างไร เพื่อนำไปคำนวณเป็นค่ารื้อถอน จากนั้นจะสรุปรายงานถึง รฟท. ขณะที่บริษัทชิโนทัยฯไม่ได้ช่วยในการขนย้าย แต่ถ้างชาวบ้านต้องการให้ช่วยรื้อถอนก็มีความพร้อม

นายพิพัฒน์ ปิ่นเพ็ชร ชาวบ้านชุมชนเจริญบุตร หมู่บ้านเขาตะเกียบ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทศบาลสัญญาว่าจะหาที่อยู่ใหม่ แต่ไม่ทราบว่าเมื่อใด แต่ขอให้ย้ายออกในระยะเวลา 1 เดือน ขณะที่ชาวบ้านยินดีย้าย แต่ขอให้มีการจ่ายค่าเยียวยาที่เหมาะสม ยอมรับว่าได้บุกรุกพื้นที่ รฟท.แต่ต้องการให้มีการพูดคุยหาข้อสรุปและวิธีแก้ไขให้ชัดเจน

นางธิญาภัค ภักดีวงศ์ ชาวบ้านชุมชนศาลาร่วมใจ กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับแจ้งว่าให้ย้ายบ้านภายใน 1 เดือนและชดใช้ค่ารื้อถอน ตารางเมตรละ 300 – 500 บาท ส่วนตัวเห็นว่าระยะเวลาน้อยไปสำหรับการหาที่อยู่ใหม่ ขณะที่ควรแจ้งให้เวลอย่างน้อย 3 เดือน แต่ยอมรับในส่วนของการย้ายเพราะเห็นแก่ส่วนรวม

นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทางและข้อเสนอของชาวบ้าน โดยยึดหลักของความเป็นจริงว่าพื้นที่ของการ รฟท. มีจำนวนมาก และมีนโยบายให้เช่าใช้พื้นที่ สำหรับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นคนยากจนไม่มีที่อยู่ ขอให้ รฟท.ช่วยดูแลให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยโดยถูกต้อง เพื่อเป็นการแก้ปัญหาทั้งระบบ และขอให้พื้นที่หัวหินเป็นโมเดลต้นแบบในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ที่มีผลกระทบของจังหวัดอื่นๆเพราะเชื่อว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากก่อสร้างรถไฟทางคู่มีอีกหลายจังหวัด

 

Loading