วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

สสจ.นครสวรรค์ เปิดการรณรงค์ป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก”

สสจ. นครสวรรค์ เปิดการรณรงค์ป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก

วันที่ 11 กรกฎาคม 2561 เวลา 08.30 น. นายแพทย์บุญชัย ธีระกาญจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 3 เป็นประธานเปิดกิจกรรมการรณรงค์กวาดล้างไข้เลือดออกเขตสุขภาพที่ 3 ณ ลานเพลิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ โดยนายแพทย์เอกรินทร์ อุ่นอบ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ เป็นผู้กล่าวรายงานการรณรงค์กวาดล้างไข้เลือดออกเขตสุขภาพที่ 3 ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อลดความชุกชุมของยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด สร้างความตระหนักต่อปัญหาการระบาดของโรค ประชาชนทั่วไปมีความตื่นตัว และเป็นแบบอย่างให้กับหน่วยงานอื่น โดยมี นายชรินทร์ ห่วงมิตร รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 3 จังหวัดนครสวรรค์ ดร.ดุษฎี นรศาศวัต หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงฯ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 3 จังหวัดนครสวรรค์ สื่อมวลชน อสม. เจ้าหน้าที่ของ สสจ. นครสวรรค์ และเจ้าหน้าที่ของสคร.3 เข้าร่วมกิจกรรมการรณรงค์กวาดล้างไข้เลือดออกในครั้งนี้

นายแพทย์บุญชัย ธีระกาญจน์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานว่า มีรายงานการระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 3 สูงขึ้น และมีการระบาดกระจายไปหลายจังหวัด ซึ่งช่วงนี้เป็นฤดูฝนเหมาะกับการแพร่พันธุ์ของยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคได้เป็นอย่างดี การควบคุมโรคที่ผ่านมาก็ยังไม่สามารถควบคุมพาหะนำโรคได้อย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย จึงทำให้มียุงชุกชุม ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว และเขตสุขภาพที่ 3 ได้ขอความร่วมมือกับทุกภาคส่วนรณรงค์ควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออกพร้อมเพรียงกันในระหว่างวันที่ 9-15 กรกฎาคม 2561 และดำเนินการต่อเนื่องทุกวันศุกร์จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2561 ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดพาหะนำโรคซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลดอัตราป่วยในพื้นที่ได้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ จึงได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ทำกิจกรรม 3 เก็บ ที่หน่วยงาน ทุกวันศุกร์ และทำกิจกรรมดังกล่าวต่อที่บ้าน ในวันหยุดราชการ
อย่างไรก็ตามเพื่อลดความชุกชุมของยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคทุกคนร่วมกันกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยใช้มาตรการ 3 เก็บ คือ 1) เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่ง เพื่อไม่ให้ยุงลายมาเกาะพัก 2) เก็บขยะ เศษภาชนะต่างๆ ยางรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้ว ซึ่งอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลายได้ 3) เก็บน้ำ ให้มิดชิด ปิดฝาภาชนะ ภาชนะไหนที่ไม่ได้ใช้แล้วเก็บคว่ำให้เรียบร้อย และขอให้มีการสำรวจทุกจุดที่มีน้ำขัง ทำต่อเนื่องทุก 7 วัน หากพบลูกน้ำยุงลายให้คว่ำหรือทำลายแหล่งน้ำนั้นทันที

ขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังตนเองและป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด โดยทายากันยุงสวมเสื้อผ้าเนื้อหนาสีอ่อนๆ ปกคลุมผิวหนังและร่างกายให้มิดชิด อยู่ในบ้านที่มีมุ้งลวดหรือนอนกางมุ้ง ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

กณต ทาทิพย์ ข่าว/ภาพ
นครสวรรค์

Loading