วันพฤหัสบดี, 2 พฤษภาคม 2567

เกษตรลำพูน!!จัดโครงการสื่อสัญจร”

เกษตรลำพูน จัดโครงการสื่อสัญจร (Press Tous)เยี่ยมชม ศพก.เวียงหนองล่อง “นิโรจน์” ลดต้นทุน ดีด้วยเทคนิค ใช้เครื่องตัดหญ้าแต่งกิ่งลำไย มีสปริงเกอร์ แบบตู้ระบบควบคุมทางไกล ด้านป่าซาง “กลุ่มแหนม” ดาวเด่นอาหารมีสูตรเด็ดเฉพาะ สร้างรายได้ ให้ครอบครัว ส่วน YSF “วัฒนา” ปลูกเมล่อนปลอดสารพิษ สุดยอดให้น้ำผ่านโทรศัพท์มือถือด้วยแอ็บปริเคชั่น

จังหวัดลำพูนจัดโครงการสื่อสัญจร Press Tour ชมผลสำเร็จ/โครงการ/กิจกรรมเด่น ของสำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูน โครงสร้างการรับรู้ข่าวสารในงานส่งเสริมการเกษตรปี 61โดย นางจำเนียร แสนราชา เกษตรจังหวัดลำพูน มอบหมายให้ นายมนตรี ทองงาม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูน เป็นผู้ประสานงานพร้อมนำคณะสื่อมวลชนจังหวัดลำพูน ลงพื้นที่เป้าหมายในอำเภอเวียงหนองล่อง และอำเภอป่าซาง เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561

ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอเวียงหนองล่อง(ศพก.เวียงหนองล่อง) บ้านเหล่าแมว ต.วังผาง อ.เวียงหนองล่อง มี ดร.ประหยัด มะโนพะเส้า หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูน พร้อมแกนนำ ศพก.ลำพูน ได้ต้อนรับคณะสื่อมวลชนพร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ศพก.ลำพูน ซึ่งมีทั้งหมด 8 ศูนย์ (อำเภอเมือง, แม่ทา, ป่าซาง, ลี้, เวียงหนองล่อง, บ้านโฮ่ง, บ้านธิ, ทุ่งหัวช้าง) เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มทำการผลิต มีการบริหารจัดการร่วมกัน เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน มีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น ผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน ภายใต้บูรณาการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เกิดเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาผลผลิตลำไยและผลผลิตการเกษตร อื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูนได้สนับสนุนเกษตรกรให้ร่วมกันทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่จังหวัดลำพูน รวม 34 แปลง

สำหรับนายนิโรจน์ แสนไชย เจ้าของสวนแสนไชย /ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.)และแปลงใหญ่ลำไย อ.เวียงหนองล่อง เพื่อดูแปลงปลูกลำไยแบบต้นเตี้ย ซึ่งทำให้ลดต้นทุนการผลิต พร้อมสาธิตการกำจัดวัชพืช เศษใบไม้ ด้วยรถไถ เพราะระยะแปลงระหว่างต้นลำไย 6 คูณ 6 เมตร สะดวกในการทำงาน รวมถึงสาธิตการตัดแต่งกิ่งลำไยด้วยเครื่องยนต์ตัดหญ้าดัดแปลง, ชมการให้น้ำในสวนลำไยด้วยระบบสปริงเกอร์ แบบตู้ระบบควบคุมทางไกล

“เดิมพื้นที่แห่งนี้ปลูกมะม่วงหนังกลางวันส่งไปขายต่างประเทศ จากนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นปลูกลำไยประมาณ 20 ปี โดยเน้นทำเป็นลำไยคุณภาพ วีธีคิดคือลดต้นทุน ผลผลิตดี มีคุณภาพ ขายได้ราคา “ นายนิโรจน์ กล่าวและว่า เมื่อก่อนค่าแรง 50 บาท ตอนนี้ 300 บาท แนวโน้มจะถึง 1,000 บาท จึงคิดเอาเครื่องจักรเข้ามาแทนแรงงานคน การทำลำไยต้นเตี้ยข้อดีหลายอย่าง เช่น ไม่มีไม้ค้ำ ประหยัดค่าจ้างเพราะคนขึ้นแพง พ่นยายาก ส่วนต้นเตี้ยดูแลง่าย เก็บลูกง่าย เสร็จแล้วตัดแต่งกิ่ง ข้อสำคัญต้องการลดต้นทุน ดีด้วยเทคนิคและวิธีการ

จากนั้นคณะฯ เดินทางไปที่อำเภอป่าซาง เพื่อดูการดำเนินโครงการเสริมสร้างรายได้ ให้แก่เกษตรกรรายย่อย กลุ่มทำแหนม หมู่ 11 บ้านก่อดู่ ต.แม่แรง อ.ป่าซาง โดยมีนางทวีวรรณ ชำนาญอาสา เกษตรอำเภอป่าซาง และคณะฯ รวมทั้งนายบรรรจง ท่าใจ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 11, นายนันทพร สุดชนะ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 11, นายทองดี มูลรังสี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 11 โดยมีนางสาวรินรดา จันทวรรณ ประธานกลุ่มฯ และสมาชิกสาธิตวิธีปรุงแหนมสูตรเด็ด ทั้งนี้ สมาชิกกลุ่มมีจำนวน 26 คน อายุระหว่าง 43-67 ปี รวมกลุ่มกันทำผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งเป็นความต้องการของตลาด มีสูตรเฉพาะ รสชาติอร่อย สะอาด ถูกหลักอนามัย จำหน่ายในราคา ชิ้นละ 10 บาท (มีแบบใส่ถุงและห่อใบตอง) ถ้าซื้อ 100 บาท/12 ชิ้น นอกจากนี้ทางกลุ่มทำแหนมได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลที่มีโครงการเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย ทำให้มีงาน มีรายได้เพิ่มขึ้น

ด้านการส่งเสริมการพัฒนาผลผลิตแก่เกษตรกรรุ่นใหม่ ได้จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะ Young Smart Farmer ( เกษตรกรปราดเปรื่องรุ่นเยาว์ ) บ้านหนองเงือก หมู่ 5 ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง กิจกรรม เป็นจุดแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่าย Young Smart Farmer ของจังหวัดลำพูน เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการ โดยมี น.ส.สุธีวรรณ ณ เชียงใหม่ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูน นายวัฒนา กันทาทรัพย์ ประธานศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ จ.ลำพูน และ สมาชิก Young Smart Farmer จ.ลำพูนให้การต้อนรับ

เจ้าของสวนเมล่อน “อาร์มฟาร์มเมล่อน” กล่าวว่า เดิมทำงานในนิคมอุตสาหกรรมฯ และผันตัวเองมาเป็นผู้ปลูกเมล่อนปลอดสารพิษ ในโรงเรือนปิด เริ่มแรกไม่มีประสบการณ์แต่ลองผิดลองถูก เมื่อปี 2558 เริ่มสร้างโรงเรือนเมล่อน ปลูก 250 ต้น ปัจจุบันขยายการผลิตเป็น 3 โรงเรือน ให้ความใส่ใจและดูแลผลผลิตจริงจัง จนได้รับรองมาตรฐาน GAP ส่วนน้ำบริหารจัดการแบบอัตโนมัติโดยโทรศัพท์มือถือผ่านแอ็บปริเคชั่น นอกจากนี้แล้วบริเวณรอบๆ โรงเรือนยังปลูกพืชผักสวนครัวหลายชนิดด้วย

“การนำเทคโนโลยี่มาใช้ในระบบการผลิตเป็นการสร้างความแม่นยำในการผลิต การมีเครือข่ายเกษตรรุ่นใหม่เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และสร้างโอกาสของธุรกิจเกษตร” นายวัฒนา กล่าวและว่า ผมมีความภูมิใจในอาชีพเกษตร สามารถสร้างอาชีพด้านเกษตรที่มีความมั่นคง สร้างรายได้ให้ครอบครัว เป็นผู้นำด้านการเกษตรที่เป็นแบบอย่าง Young Smart Farmer ในการนำเทคโนโลยี่การผลิตมาใช้และสามารถถ่ายทอดให้ชุมชน เครือข่ายเกษตรรุ่นใหม่และคนสนใจ ซึ่งการผลิตเมล่อนปลอดสารพิษสามารถสร้างเครือข่ายการตลาดสินค้าเกษตรให้เกิดขึ้น และต่อยอดเกิดการเกษตรเชิงท่องเที่ยวในชุมชนได้

ทีมข่าว ลำพูน

Loading