วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

ชาวไร่อ้อยยโสธร!!ดีใจรวมตัวแสดงพลังขอบคุณ กกพ.ที่ออกใบอนุญาติตั้งโรงไฟฟ้า”

ยโสธรชาวไร่อ้อยรวมตัวกันแสดงพลังขอบคุณ กกพ.ที่ออกใบอนุญาตตั้งโรงไฟฟ้า

ชาวไร่อ้อยในจังหวัดยโสธรและจังหวัดอำนาจเจริญ รวมตัวกันเพื่อแสดงพลังขอบคุณ กกพ. ที่ออกใบอนุญาตให้ตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่และขอบคุณที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของชาวบ้านเป็นสำคัญ


เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 10.00 น. นายอุทิศ สันตะวงศ์ ประธานสหกรณ์ชาวไร่อ้อยลำเซบาย พร้อมชาวไร่อ้อยจากจังหวัดยโสธรและจังหวัดอำนาจเจริญ กว่า 400 คน ได้รวมตัวกันบริเวณสถานีขนถ่ายอ้อย หน้าโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ เพื่อแสดงความขอบคุณคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ได้พิจารณาอนุมัติออกใบอนุญาตให้ตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลมิตรผลไบโอเพาเวอร์อำนาจเจริญ หลังจากที่ยืดเยื้อมานาน ทำให้โรงงานน้ำตาลที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างไปก่อนหน้านี้ สามารถที่จะรับซื้ออ้อยและทำการหีบอ้อยของชาวไร่อ้อยได้ ทำให้พี่น้องชาวไร่อ้อยดีใจเป็นอย่างมากและขอขอบคุณทาง กกพ. ที่รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาอย่างเป็นธรรม โดยเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนและจังหวัดเป็นสำคัญโดยทาง กกพ. ได้มองเห็นภาพรวมเศรษฐกิจของทางจังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดยโสธร ที่จะได้เติบโตขึ้น จากการสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ให้กับชุมชนและชาวไร่อ้อย ในขณะเดียวกัน ลูกหลานที่ไปทำงานไกลบ้านก็จะได้กลับมาทำงานใกล้บ้าน ทำให้ครอบครัวอบอุ่นและเป็นสุข ซึ่งช่วงที่ทางโรงงานน้ำตาลกำลังดำเนินการก่อสร้างก็เกิดการจ้างงานเป็นจำนวนมาก การค้าขายในชุมชนและเศรษฐกิจก็ดีขึ้นกว่าเดิมมาก หากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงงานน้ำตาลเปิดรับซื้ออ้อยและหีบอ้อยได้เมื่อไหร่ เชื่อว่าเศรษฐกิจ การจ้างงาน การค้าขายในชุมชนจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ยังความเจริญให้กับคนในจังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดยโสธร
นางเดือนสาย จันโทวงศ์ ชาวไร่อ้อย จาก อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ บอกว่า ตนรู้สึกดีใจมากที่ทราบข่าวว่า กกพ. อนุญาตให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลได้ โรงงานน้ำตาลจะได้เปิดรับซื้ออ้อยได้ซักที ช่วยลดค่าบรรทุกอ้อยที่ตอนนี้ต้องขนส่งไปขายยังโรงงานน้ำตาลที่อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ และรอคิวการลงอ้อยนานมาก เนื่องจากโรงงานที่ อำเภอกุฉินารายณ์เองก็มีชาวไร่อ้อยของโรงงาน ส่งอ้อยอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก การมีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ จะช่วยลดค่าบรรทุกในการขนส่งอ้อย และลดเวลาการติดคิวรอลงอ้อย จะทำให้ต้นทุนและการสูญเสียน้ำหนักอ้อยลดลงอย่างมาก ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น


นางสาววราภรณ์ บัวสุวรรณ พนักงานโรงงานน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ บอกว่า ตนรู้สึกดีใจมากที่มีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลเข้ามาตั้งในพื้นที่ ทำให้ไม่ต้องไปทำงานไกลบ้าน ช่วยประหยัดต้นทุนค่าครองชีพในเมืองไปได้เยอะมาก ทำให้มีเงินเหลือเก็บ แต่ที่สำคัญที่สุดคือสามารถดูแลพ่อแม่และครอบครัวได้ในเวลาเดียวกัน เชื่อว่าถ้ามีการก่อสร้างโรงงานเมื่อไหร่ ก็จะมีลูกหลานยโสธรและอำนาจเจริญกลับมาทำงานในบ้านเกิดตัวเองเพิ่มขึ้นอีกแน่นอน

จิตราพร พรมทา ชาวเทศบาลน้ำปลีก และชุมชนรอบรัศมี 5 กิโลเมตร รอบโรงงาน บอกว่า ดีใจที่บริษัทน้ำตาลมิตรผล ได้มาสร้างโรงงานในจังหวัดอำนาจเจริญ และขอขอบคุณคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ได้อนุมัติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล มั่นใจว่าชุมชนจะมีความเจริญ เศรษฐกิจ การค้าขาย จะดี ชุมชนมีรายได้ดีขึ้น มีงานทำไม่ต้องไปทำงานไกลบ้าน

ขณะที่ นายไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการประจำกลุ่มธุรกิจอ้อย กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “การร่วมพัฒนาเศรษฐกิจในจังหวัดอำนาจเจริญและยโสธรจากโครงการโรงงานน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ จะทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในโรงงานประมาณ 400 คน สร้างอาชีพที่มั่นคงให้ชาวไร่อ้อยได้กว่า 7,500 ครัวเรือน สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนประมาณ 2,500 ล้านบาทต่อปี และที่สำคัญ จะช่วยลดภาระค่าขนส่งอ้อยของพี่น้องเกษตรกรได้ปีละกว่า 120 ล้านบาท”

ทีมข่าว ยโสธร

Loading