วันอังคาร, 30 เมษายน 2567

นครปฐม รับมอบผ้าต้นแบบอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐม ลาย “ปูรณฆฏาศรีทวารวดี

​​นครปฐม รับมอบผ้าต้นแบบอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐม ลาย “ปูรณฆฏาศรีทวารวดี

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 เวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม รับมอบผ้าต้นแบบอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐม ลาย “ปูรณฆฏาศรีทวารวดี” จากนางณัฏฐ์ปภาณ จันทร์ละมูล ประธานบริษัทประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด พร้อมคณะ เป็นตัวแทนส่งมอบผ้าต้นแบบทอลายมัดหมี่จำนวน 2 ผืน และทอลายจก จำนวน 2 ผืน ให้แก่จังหวัดนครปฐม เพื่อนำไปเป็นต้นแบบในการรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนได้สวมใส่ผ้าลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐมอย่างกว้างขวาง โดยมีนางฐิติรัตน์ เรืองสังข์ วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ความเป็นมาของผ้าลายอัตลักษณ์จังหวัดนครปฐม พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครปฐม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ เข้าร่วมพิธีฯ
​​จากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ได้รับทราบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย เพื่อให้ผ้าไทยสามารถจำหน่ายและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยจังหวัดนครปฐมรณงค์ให้ข้าราชการ

บุคลากรในหน่วยงานสวมใส่ผ้าไทยทุกวันพุธและวันศุกร์ ยกเว้นในวันที่มีการแต่งกายด้วยเครื่องแบบข้าราชการผ้าลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐม
​​ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับจังหวัดทุกจังหวัด ดำเนินการค้นหาหรือออกแบบลายผ้าประจำจังหวัด จังหวัดละ 1 ลาย เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำหนังสือ “ภูษาศิลป์

จากท้องถิ่นสู่สากล” ตลอดจนได้มีการส่งเสริมการใช้และสวมใส่ผ้าไทย โดยจังหวัดนครปฐมได้ดำเนินการจัดประชุมคณะกรรมการดำเนินงานค้นหาและพัฒนา “อัตลักษณ์ผ้าไทย ผ้าพื้นเมือง จังหวัดนครปฐม” ซึ่งได้มีการระดมความคิดการออกแบบลายผ้าจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร อาทิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะวรรณ ปิ่นแก้ว ประธานหลักสูตรสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม อาจารย์กฤติยา แก้วสะอาด อาจารย์ประจำสาขาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล อาจารย์ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ประภากร สุคนธมณี อาจารย์ภาควิชาประยุกต์ศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้มีการระดมความคิดเห็น ค้นหาและพัฒนาผ้าที่สามารถนำมาเป็น อัตลักษณ์ของจังหวัดนครปฐม และเพื่อประกอบการจัดทำหนังสือ “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” จากที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้มีมติคัดเลือกลาย “ปูรณฆฏาศรีทวารวดี” (ปู-ระ-นะ-คะ-ตา-สี-ทะ-วา-ระ-วะ-ดี) อันหมายถึงจังหวัดนครปฐมเป็นดินแดนอารยธรรมสมัยทวารวดีที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งสภาพแวดล้อม พืชพรรณธัญญาหาร มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ และเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 จังหวัดนครปฐมได้ออกประกาศให้ลาย “ปูรณฆฏาศรีทวารวดี”เป็นลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐม

​​สำหรับการทำให้ลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐม เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น บริษัทประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ได้สนับสนุนงบประมาณสำหรับผลิตผ้าต้นแบบเป็นเงินจำนวน 28,500 บาท (สองหมื่นแปดพันห้าร้อยบาทถ้วน) โดยได้มีการใช้เทคนิคการผลิตผ้า จำนวน 2 แบบ ดังนี้
​​
แบบที่ 1 เทคนิคการมัดหมี่ ผ้าฝ้ายพื้นสีคราม ลายสีขาว ขนาด 90 x 200 เซนติเมตร โดยนายกมนพรรน์บ่อแก้ว ผู้นำกลุ่มผ้าทอมือศรีอุทุมพร ตำบลโพรงมะเดื่อ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
​​แบบที่ 2 เทคนิคการจก ผ้าฝ้ายพื้นสีฟ้าจกด้วยไหม ขนาด 35 x 90 เซนติเมตร โดยนายวรุฒม์ มั่นพรม ผู้นำกลุ่มวงเดือน ผ้าจกไท – ยวน ตำบลห้วยม่วง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

​​นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า มีความชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่งรู้สึกมีความชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จังหวัดนครปฐมของเรามีผ้าลาย อัตลักษณ์ประจำจังหวัด ลาย “ปูรณฆฏาศรีทวารวดี” ชื่ออาจจะเรียกยากสักนิด แต่มีความหมายที่บ่งบอกถึงจังหวัดนครปฐม เป็นอย่างดี ขอขอบคุณผู้เกี่ยวข้อง ทุกฝ่ายที่ร่วมกันขับเคลื่อนผ้าลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐม
​สืบเนื่องจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบลายผ้าพระราชทาน ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา ซึ่งการออกแบบเพื่อให้ราษฎรได้ร่วมถักทอลวดลายของตนเองลงในช่องว่าง เป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว สำหรับแต่ละท้องถิ่น โดยพระราชทานลายผ้าแก่กลุ่มทอผ้าในจังหวัด ได้นำไปเป็นต้นแบบและสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตามวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นของแต่ละชุมชน เพื่อพัฒนาศักยภาพผ้าไทยให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

​จังหวัดนครปฐมได้นำลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐมมาออกแบบร่วมกับลายผ้าพระราชทาน ในวันนี้จักได้นำเสนอใน 2 รูปแบบ คือ 1. แบบมัดหมี่ และ 2. แบบจก ซึ่งย้อมสีธรรมชาติ ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนครปฐม ได้แก่ สีจากใบส้มโอ และสีจากเปลือกมะพร้าว นอกจากนี้ยังมีสีอื่น ๆ ให้เลือกตามความต้องการของลูกค้า

​ขณะนี้จังหวัดนครปฐมอยู่ในระหว่างการออกแบบผ้ามัดหมี่ลายสร้างสรรค์ วิถีชีวิตชนบทไทย โดยมีแนวคิดจากวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของประชาชนจังหวัดนครปฐม ที่มีความผูกพันกับสายน้ำ “แม่น้ำท่าจีน” หรือ “แม่น้ำนครชัยศรี” ที่หล่อเลี้ยงผู้คน สร้างความสะดวกในการคมนาคม ทำให้เกิดอาชีพและประเพณีต่าง ๆ มากมาย ในผืนผ้าจะมีองค์ประกอบ สายน้ำ แม่ค้าพายเรือขายของ ขายผักผลไม้ ได้แก่ ส้มโอ มะพร้าว ซึ่งเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัด ในส่วนของกิจกรรมทางบกแสดงให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้ เช่น ต้นมะพร้าวน้ำหอมสามพราน (GI) การทำสวนกล้วยไม้ (แหล่งผลิตอันดับ 1 ของประเทศ) การทำนาบัว (กับเรื่องเล่าคลองมหาสวัสดิ์ คลองขุดในรัชสมัยของรัชกาล ที่ 4) เป็นต้น

​จึงขอเชิญชวนทุกท่านได้สนับสนุนผ้าทอมือลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐม และผ้าลายประยุกต์ จากผู้ประกอบการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ข้าราชการ และประชาชนได้สวมใส่ผ้าทอลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐม ตลอดจนส่งเสริมอาชีพการทอผ้าพื้นเมืองในจังหวัดนครปฐม และพัฒนา สนับสนุนในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชนฐานรากได้มีอาชีพและรายได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการสืบสาน รักษา พัฒนา และต่อยอด การอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญา ทางวัฒนธรรมท้องถิ่น และวิถีชีวิตชุมชนให้คงอยู่ สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการทอผ้า และประชาชนในจังหวัดนครปฐมอย่างยั่งยืนต่อไป

ชนิดา พรหมผลิน/นครปฐม

 

 

Loading