วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

สตูล ร.ร.บ้านควนสตอสอนนักเรียนเกี่ยวข้าวฟื้นวิถีชีวิติทำนาแบบดั้งเดิม

สตูล ร.ร.บ้านควนสตอสอนนักเรียนเกี่ยวข้าวฟื้นวิถีชีวิตทำนาแบบดั้งเดิม

วันที่28ก.พ.2560ผู้สื่อข่าวรายงานว่าโรงเรียนบ้านควนสตอ อ.ควนโดน จ.สตูล จัดกิจกรรมฟื้นวิถีชีวิตการทำนาแบบดั้งเดิมให้กับนักเรียนชั้นม.1-ม.3 ร.ร.บ้านควนสตอ ต.ควนสตอ อ.ควนโดน จ.สตูลโดยนำนักเรียนเรียนรู้การทำนาแบบดั้งเดิมสมัยรุ่นปู่ย่าตา ยาย เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำนา ทั้งนาดำและนาหว่าน เริ่มจากปักดำ ไถ หว่าน ใช้ปุ๋ย การเก็บเกี่ยว เรียนรู้เรื่องเครื่องมือเกี่ยวข้าวแบบโบราณโดยใช้แกะ และใช้เคียว โดยเฉพาะแกถือเป็นเครื่องมือสมัยโบราณที่ใช้เก็บข้าวในภาคใต้ ปัจจุบันชาวนาหลายแห่งได้เลิกใช้แกะเก็บข้าว นอกจากพื้นที่ที่อนุรักษ์ให้ลูกหลานได้เรียนรู้ โดยเด็กนักเรียนได้สนุกสนานจากประสบการณ์จริงทั้งการเก็บข้าวด้วยแกะ โดยข้าวที่เก็บจากแกะจะทำการนวดข้าวด้วยเท้า ส่วนข้าวที่เกี่ยวกับเคียวจะใช้วิธีฟาดใส่ในกระออม ทั้งการนวดและการฟาดข้าวก็เพื่อให้เมล็ดออกจากรวงข้าวนั่นเอง


นายยูสิทธิ์ เกปัน อาจารย์สอนวิชาภาษาไทย กล่าวว่าในช่วงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ได้นำเด็กนักเรียนลงพื้นที่จริงถึงแม้นว่าโรงเรียนจะอยู่ในหมู่บ้านแต่เด็กส่วนใหญ่ไม่เคยได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ไม่เคยเก็บข้าวกับแกะ เมื่อได้ทดลองจริงเด็กรู้สึกสนุกกับการเก็บข้าวกับแกะ การฟาดข้าวและนวดข้าว ซึ่งในพื้นที่ม.7 ต.ควนสตอ ชาวบ้านจะให้พื้นที่ปลูกข้าวแก่ร.ร.จำนวน 6 ไร่ซึ่งทางศูนย์ส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุง เป็นผู้ให้พันธุ์ข้าวอัลฮัมดุลิลละห์ เป็นข้าวพื้นเมืองที่ต้องการให้ชาวบ้านอนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมือง และข้าวหอมปทุม ซึ่งเมื่อชาวบ้านให้พื้นที่ร.ร.ก็ให้เด็กนักเรียนมาเรียนรู้แต่จะเน้นวิถีดั้งเดิม โดยมีชาวบ้านในพื้นที่เป็นครูภูมิปัญญาช่วยกันสอน และเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวก็จะลงแขกช่วยกันเก็บ หลังเก็บเกี่ยวเสร็จก็จะมานั่งรับประทานอาหารร่วมกัน เป็นข้าวเหนียวมันกินกับปลาเค็มและแกงเนื้อ นอกจากนี้ชาวบ้านจะร่วมกันทำขนมหวานซึ่งชาวบ้านเรียกว่าจอหนอย (ลอดช่อง)ซึ่งชาวบ้านช่วยกันทำเอง เป็นการฟื้นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่หลังลงแขกเกี่ยวข้าวก็จะมีการกินข้าวร่วมกัน ซึ่งวัตถุประสงค์หลักก็เพื่อสืบสานการทำนาแบบดั้งเดิม ให้เรียนรู้วิถีการทำนาสมัยปู่ย่า ข้าวที่ได้นำไปเป็นอาหารกลางวันของนักเรียน ส่งเสริมให้รักถิ่นฐานบ้านเกิดและรักอาชีพการทำนา ซึ่งข้อดีของการเก็บข้าวด้วยแกะคือข้าวที่เก็บจะเสียหายน้อยกว่าเก็บกับรถ และข้าวสามารถเก็บได้นาน2-3 ปีเลยทีเดียว


นิตยา แสงมณี ภาพ/ข่าว สตูล

Loading