วันจันทร์, 12 พฤษภาคม 2568

นครปฐม“ อนุรักษ์ ฟื้นฟู ประเพณีตักบาตรข้าวหลาม ชุมชนวัดพระงาม

นครปฐม110568อนุรักษ์ ฟื้นฟู ประเพณีตักบาตรข้าวหลาม ชุมชนวัดพระงาม

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2568 เวลา 07.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่วัดพระงาม พระอารามหลวง จังหวัดนครปฐม โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม จัดกิจกรรมอนุรักษ์ ฟื้นฟู ประเพณีตักบาตรข้าวหลาม ชุมชนวัดพระงาม โดยมี พระอุดมธรรมเมธี เจ้าอาวาสวัดพระงาม ประธานสงฆ์ พันโท ดร.สินธพ แก้วพิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม เขต 2 ประธานในพิธีฯ พร้อมด้วย ผศ.ดร.วิรัตน์ ปิ่นแก้ว หัวหน้าแผนงานวิจัยฯ ผศ.ดร.ปิยะวรรณ ปิ่นแก้ว คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม อาจารย์ศิริญญา อารยะจารุ ประธานสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม พร้อมด้วย ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม ประชาชน สื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรมฯ ในครั้งนี้


​สืบเนื่องจากจังหวัดนครปฐม โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม จัดโครงกรส่งเสริมสนับสนุนการอนุรักษ์ฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นและมรดกภูมิปัญญา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (ไตรมาส 3 – 4) เพื่อสืบสาน อนุรักษ์ วัฒนธรรมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าวิถีชีวิตที่ชุมชนและท้องถิ่นต่าง ๆ ได้พัฒนาและสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมืองในการดำเนินชีวิต โดยแสดงออกในรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบของวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ภูมิปัญญา และศิลปะ ซึ่งในปัจจุบันวัฒนธรรมท้องถิ่น ประเพณีและวิถีชีวิตที่ดีงาม ได้ถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นใหม่น้อยมาก ในขณะที่ความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากสังคมภายนอกได้เข้ามาคุกคามสังคมไทยมากขึ้น ดังนั้นการอนุรักษ์ฟื้นฟูรวมทั้งการเสริมสร้างคุณค่าทางสังคมและจิตใจต่อมรดกทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้สืบทอดภูมิปัญญาของท้องถิ่น เพื่อให้เยาวชนและคนในท้องถิ่นได้ตระหนักถึงความสำคัญและเข้าใจในรากเหง้าความเป็นวัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตของท้องถิ่น


ในวันนี้ได้จัดกิจกรรมอนุรักษ์ ฟื้นฟู ประเพณีตักบาตรข้าวหลาม ชุมชนวัดพระงามขึ้น ซึ่งเป็นวิถีดั้งเดิมที่ชาวชุมชน วัดพระงามทำมาแต่อดีต (เป็นชุมชนเผาข้าวหลามขนาดใหญ่ ริมทางรถไฟ) แต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้ประกอบอาชีพเผาข้าวหลามได้ล้มเลิกกิจการ หายไปเป็นจำนวนมาก วิถีชีวิตที่ใส่บาตรด้วยข้าวหลามกันยามเช้าจึงค่อยๆเลือนหายไป


ในขณะเดียวกันทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในชุมชนวัดพระงามก็มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นที่สะท้อนพัฒนาการทางสังคม วิถีชีวิต และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภูมิปัญญาการเผาข้าวหลาม ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ของจังหวัดนครปฐมตั้งแต่ อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยสะท้อนให้เห็นจากคำขวัญของจังหวัดนครปฐมที่ว่า “ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวงามข้าวหลามหวานมัน สนามจันทร์งามล้น พุทธมณฑลคู่ธานี พระปฐมเจดีย์เสียดฟ้า สวยงามตาแม่น้ำท่าจีน” ในอดีตชุมชนวัดพระงามมีความโดดเด่นในการประกอบอาชีพทำข้าวหลามมาอย่างยาวนาน อาจเรียกได้ว่าเป็นหมู่บ้านข้าวหลามเลย ก็ว่าได้


และจากคำบอกเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่ กล่าวว่า แหล่งกำเนิดของข้าวหลามนครปฐมในอดีตนั้นมีเพียงแห่งเดียว คือ ชุมชนบริเวณรอบวัดพระงาม สันนิษฐานว่ามีมาก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยบรรพบุรุษได้อพยพมาจากถิ่นฐานอื่น มาประกอบอาชีพทำนาปลูกข้าวเป็นหลัก ซึ่งการทำข้าวหลามอาจเป็นประเพณีที่ เคยทำกันมาตั้งแต่ถิ่นเดิม เมื่อมีการย้าย ถิ่นฐานจึงนำมาทำกันสืบเนื่องภายในครัวเรือน และมีประเพณีการตักบาตรข้าวหลามนั้นผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า ในอดีตทำกัน ปีละครั้ง โดยนำข้าวหลามไปใส่บาตรพระที่มาบิณฑบาต เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับของตนในวันสงกรานต์หรือวันสำคัญทางศาสนา ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางสภาพสังคมและเศรษฐกิจจึงมีผู้คนภายในชุมชนหันมาประกอบอาชีพการทำข้าวหลามขายเป็นหลัก และทำข้าวหลามขายกันตลอดปี ทำให้ข้าวหลามนครปฐมเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น


โดยบรรยากาศภายในงานเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังบุญใหญ่ในวันนี้เป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งได้มีพ่อค้า แม่ค้า จากชุมชนวัด พระงาม ได้นำข้าวหลามสูตรดั้งเดิม และขนมไทยมาจำหน่ายให้กับผู้ที่มาตักบาตรข้าวหลามภายในงานอีกด้วย ทำให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับชุมชน พร้อมกับการสืบสาน อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทยให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองถาวรสืบไป

 

ชนิดา พรหมผลิน/นครปฐม

Loading