วันอาทิตย์, 19 พฤษภาคม 2567

องคมนตรี ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

องคมนตรี ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯ และโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จังหวัดเพชรบุรี


วันจันทร์ที่ 29 มกราคม 2561 พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลาง พร้อมคณะอนุกรรมการฯ ติดตาม ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ และโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี เพื่อสนองพระราชกระแสสมเด็จพระเจ้าอยู่ ที่ทรงห่วงใยโครงการต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องรวมทั้งเร่งรัดการดำเนินโครงการต่างๆ ให้แล้วเสร็จเพื่อให้เกิดประโยชน์กับราษฎร โดยมีนายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี หัวหน้าส่วนราชการ ร่วมให้การต้อนรับ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นหนึ่งในหกศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2526 สรุปความว่า ให้พัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านการเกษตรกรรม เน้นการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม และสามารถทำการเพาะปลูกพืช ควบคู่ไปกับการปลูกป่า พร้อมกับจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนการปลูกป่าและการเพาะปลูกพืช จัดระเบียบราษฎรในพื้นที่โครงการให้เข้าอยู่อาศัยและทำกินอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและสอดคล้องกับธรรมชาติโดยให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมดูแลรักษาและอาศัยผลผลิตจากป่าโดยไม่เข้าไปบุกรุกทำลายป่าไม้ ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ก่อตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จฯ ไปทรงติดตามการดำเนินงานถึง 10 ครั้ง
ปัจจุบันศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ดำเนินการสนองพระราชดำริ นอกจากจะเป็นสถานที่ให้ความรู้ ฝึกอบรมการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการพัฒนาที่หลากหลายแล้ว ยังมีผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์โดยเฉพาะการพัฒนาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าพื้นที่ป่ามีอัตราความหนาแน่นและความหลากหลายชนิดพันธุ์ไม้ สัตว์ป่าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งยังมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาเกษตรกรเพื่อให้เป็นต้นแบบการพัฒนาโดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งในปี 2560 สามารถส่งเสริมเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรตัวอย่างได้ถึงจำนวน 7 ราย มีผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานจำนวน 119,281 คน
จากนั้นเวลาประมาณ 13.00 น. องคมนตรี พร้อมคณะฯ ร่วมประชุมหารือการดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี พร้อมกับตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน ณ จุดเชื่อมต่อที่ผันน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี วัดท่าซิก บริเวณประตู 1ขวา สายใหญ่ฝัางขวา 3 และคลองระบาย D18 โดยมีนายอานนท์ พร้อมเพรียง นายอำเภอท่ายาง นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี นายสันต์ จรเจริญ ผอ.สำนักงานชลประทานจังหวัดเพชรบุรี นางนฤมล กิจพ่วงสุวรรณ นายกเทศมนตรีตำบลท่ายาง พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและอำนวยความสะดวก พร้อมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำช่วงฤดูน้ำหลากและแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเพชรบุรี ในระยะยาว
โครงการบรรเทาอุทกภัยและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงห่วงใยราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเป็นประจำในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี พร้อมกับพระราชทานราชดำรัส ถึงสาเหตุแนวทางการแก้ไข ตั้งแต่ 23 ตุลาคม 2542 ปี 2546 และปี 2547 ต่อมาในปี 2548 สำนักงาน กปร. ร่วมกับกรมชลประทาน ดำเนินการสนองพระราชดำริจัดทำแผนงานและโครงการระบายน้ำเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยการขุดลอกคลองต่างๆ แต่เนื่องจากลุ่มน้ำเพชรบุรีบริเวณเหนือเขื่อนเพชร มีพื้นที่รวม 4,050.9 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน อ่างเก็บน้ำห้วยผาก และอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ รวมทั้งสิ้น 2,853 ตารางกิโลเมตร และเป็นพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่ง 1,197 ตารางกิโลเมตร ซึ่งสามารถบริหารจัดการน้ำจากฝนที่ตกหนักได้เฉพาะพื้นที่บริเวณเหนืออ่าง แต่พื้นที่บริเวณท้ายอ่างไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยแม่จันต์ เป็นสาเหตุให้เกิดอุทกภัยที่ผ่านมา ดังนั้นกรมชลประทานจึงได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะยาวโดยการปรับปรุงขยายคลองส่งน้ำให้สามารถส่งน้ำและเพิ่มการระบายน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีให้ไหลลงสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพต่อไป
พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เปิดเผยว่า โครงการการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดเพชรบุรี เน้นการดำเนินการทั้งเก็บน้ำและระบายน้ำ โดยในช่วงฤดูแล้งคลองระบายน้ำก็จะเป็นคลองส่งน้ำเพื่อให้ประชาชนทำการเกษตรกร ให้ชาวเกษตรมีน้ำในการเพาะปลูกให้เกิดผลผลิตที่ดี ส่วนในช่วงฤดูน้ำหลากคลองสายต่างๆก็จะเป็นช่องทางการเร่งระบายน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันความเสียหายต่อชาวเพชรบุรีต่อไป


กสิพล ศิริลาภ/เพชรบุรี

Loading